ยุคราชวงศ์ฟื้นฟู (ค.ศ. 1815 – 1830) ของ ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

เกาะเล็กๆเช่นเกาะอัลบาไม่อาจขวางกั้นนโปเลียนได้ ขณะที่ชาติต่างๆในยุโรปกำลังวางแผนการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna) เพื่อนำยุโรปสู่หวนกลับคืนสู่สภาวะเดิมก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส นโปเลียนสามารถเดินทางกลับมายึดอำนาจในฝรั่งเศสได้อีกครั้งในปี ค.ศ. 1815 และดำรงอยู่ได้ร้อยวัน จนชาติต่างๆ ในสัมพันธมิตรครั้งที่เจ็ด (Seventh Coalition) เอาชนะนโปเลียนในยุทธการวอเตอร์ลู ทำให้นโปเลียนถูกเนรเทศไปเกาะเซนต์เฮเลนา (Saint Helena) ของบริเตนกลางมหาสมุทรแอตแลนติก จนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1821

ภายใต้ข้อตกลงของคองเกรสแห่งเวียนนา ราชวงศ์บูร์บงกลับมาครองฝรั่งเศสอีกครั้ง เคานต์แห่งพรอว็องส์ (Comte de Provence) พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กลับเข้าฝรั่งเศสมาครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 รัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสเป็นแบบสองสภา คือ สภาขุนนาง (Chamber of Peers) และสภาผู้แทน (Chamber of Deputies) ทำให้ฝ่ายนิยมราชาธิปไตยมีอำนาจขึ้น เกิดกวาดล้างขบวนการปฏิวัติและกลุ่มของนโปเลียนเดิม เรียกว่า มิคสัญญีขาว (White Terror) ทำให้ประชาชนหวาดกลัว การเลือกตั้งปี ค.ศ. 1815 กลุ่มนิยมราชาธิปไตยจึงได้รับการเลือกตั้งท่วมท้น เรียกว่า chambre introuvable แปลว่า สภาที่ทำงานด้วยไม่ได้ พระเจ้าหลุยส์ทรงยุบสภานี้เสีย เพราะทรงตระหนักว่าสภานี้มีนโยบายที่รุนแรงเกินไป และเลือกตั้งใหม่ จึงได้กลุ่มเสรีนิยมมากขึ้น

ในปี ค.ศ. 1818 บรรดาชาติที่ชนะสงครามนโปเลียนประชุมคองเกรสแห่งเอกซ์-ลา-ชาเปล (Congress of Aix-la-Chapelle) ตกลงถอนทหารจากฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1824 เคานต์แห่งอาร์ตัวส์ (Comte d'Artois) ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 ทรงเป็นกษัตริย์ที่ให้การสนับสนุนแก่กลุ่ม ultra-royalist ในปี ค.ศ. 1825 ทรงออกพระราชบัญญัติห้ามทำลายรูปเคารพ (Sacrilege Act) เพื่อป้องกันไม่ให้โบสถ์ต่างถูกโจมตีเหมือนสมัยปฏิวัติใน ค.ศ. 1829 มีเจ้าชายแห่งปอลีญัก (Prince de Polignac) เป็นประธานสภา (President of the Council - นายกรัฐมนตรี) ทั้งพระเจ้าชาร์ลส์และปอลีญักดำเนินนโยบายอนุรักษนิยมฟื้นฟูราชาธิปไตย

เสรีภาพนำประชาชน โดยเออแฌน เดอลาครัวซ์ (Eugéne Delacroix) แสดงการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม สตรีแสดงถึงเสรีภาพ

ในปี ค.ศ. 1830 ปอลีญักนำฝรั่งเศสบุกยึดแอลจีเรีย เป็นอาณานิคมแรกของฝรั่งเศสในแอฟริกา และโปลิญักออกกฤษฎีกาเดือนกรกฎาคม (July Ordinances) ยกเลิกสภาผู้แทน จำกัดสิทธิการเลือกตั้งเหลือแต่คนร่ำรวย และจำกัดเสรีภาพสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้เกิด การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution) พระเจ้าชาร์ลส์ทรงสละราชบัลลังก์ให้พระนัดดา คือ ดยุกแห่งบอร์โดซ์ (Duc de Bordeaux) แต่คณะปฏิวัติกลับยกราชสมบัติให้แด่เจ้าชายหลุยส์-ฟิลิป แห่งราชวงศ์บูร์บงสายออร์เลอองส์ เป็นพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิป ทำให้ฝ่ายสนับสนุนราชาธิปไตยแบ่งแยกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มเลฌิติมิสต์ (Legitimist) หรือกลุ่มราชวงศ์บูร์บงสายสิทธิชอบธรรม สนับสนุนราชวงศ์บูร์บงเดิม และกลุ่มออร์เลอองนิสต์ (Orléanist) สนับสนุนราชวงศ์บูร์บงสาขาออร์เลอองส์

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย